top of page

ไอเดียการติดตั้งหน้าต่างบนหลังคา

หน้าต่างคือช่องเปิดบนกำแพงที่ใช้รับแสงสว่างและถ่ายเทอากาศในบ้าน หน้าต่างเป็นประตูทางสายตาที่เชื่อมภายในและภายนอกบ้าน แต่มีหน้าต่างชนิดหนึ่งที่ไม่ได้อยู่บนกำแพง ไม่ได้มีไว้ให้มองออกไปข้างนอก บางครั้งก็ไม่ช่วยระบายอากาศ หน้าต่างชนิดนี้ก็คือ "สกายไลท์" (skylight) หรือจะเรียกว่าหน้าต่างบนหลังคาก็คงไม่ผิด นอกจากให้แสงสว่าง สกายไลท์ในบ้านเมืองหนาวยังให้ความอบอุ่นด้วย แต่ในเมืองไทย เราคงได้รับความอบอุ่นจากแสงอาทิตย์กันเกินพอแล้ว ทิศทางและตำแหน่งของสกายไลท์เพื่อรับแสงในปริมาณและเวลาที่ต้องการ โดยไม่ทำให้บ้านร้อนจึงเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้เรื่องการป้องกันการรั่วซึมของน้ำฝน ฉบับนี้เรามาคุยกันถึงเรื่องการออกแบบหน้าต่างบนหลังคาที่ว่านี้กันครับ

หน้าต่างบนหลังคา2.jpg

ทำไมต้องใช้แสงอาทิตย์ในบ้าน เมื่อเรามีไฟฟ้าแล้ว

บางครั้งความสะดวกสบายจากแสงสังเคราะห์ ทำให้เราลืมความสำคัญของแสงอาทิตย์ไป แสงอาทิตย์ที่เข้ามาในบ้าน ผ่านทางหน้าต่างหรือสกายไลท์ จะทำให้เราสัมผัสรับรู้ธรรมชาติที่แท้จริงของทุกสิ่งในบ้าน แสงอาทิตย์ช่วงเช้า สาย บ่าย และเย็น ในแต่ละวัน แต่ละฤดู จะอธิบายทุกอย่างเป็นเรื่องราวที่ต่างกันไป ขนาดของช่องเปิด

แน่นอนว่าช่องเปิดขนาดใหญ่ให้แสงสว่างมากกว่าช่องเปิดขนาดเล็ก แต่ถ้าใหญ่เกินไปก็ทำให้ภายในบ้านร้อน แทนที่จะประหยัดกลับกลายเป็นสิ้นเปลืองพลังงานในการทำความเย็นไปเสีย หรือสว่างจ้าเกินไปที่จะทำกิจกรรมในบ้าน เช่น ดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือ วิธีกำหนดขนาดแบบง่ายๆคือ สำหรับห้องที่มีหน้าต่างน้อยหรือไม่มีเลย ขนาดของช่องสกายไลท์ไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของพื้นที่ห้อง (เช่น ห้องนั่งเล่นที่ไม่มีหน้าต่างขนาด 5 x 5 เมตร ควรมีสกายไลท์ขนาดไม่เกิน 2.5 ตารางเมตร) และไม่เกินร้อยละ 5 สำหรับห้องที่มีหน้าต่างมากพออยู่แล้ว

หน้าต่างบนหลังคา3.png

ตำแหน่งของช่องเปิดและการบังคับแสง

ตำแหน่งของสกายไลท์จะเป็นตัวกำหนดความแรงของแสงในเวลาที่ต้องการ เช่น ถ้าคุณต้องการให้แสงส่องเข้ามาที่มุมรับประทานอาหารเช้า ช่องเปิดบนหลังคาควรหันไปทางทิศตะวันออก หรือถ้าคุณต้องการแสงในปริมาณไม่ต้องมาก แต่มีตลอดทั้งวันในห้องทำงาน ช่องเปิดก็ควรหันไปทางทิศเหนือ ทิศตะวันตกจะให้แสงสว่างมากที่สุด รองลงมาคือทิศใต้ แต่ก็จะทำเกิดการสะสมความร้อนในบ้านด้วย ต้องมีการใช้เทคนิคบังคับแสงและระบายความร้อนเข้ามาช่วย จึงจะเป็นแสงที่ใช้งานในบ้านได้ วิธีการบังคับทิศทางของแสงก็เช่น - Light Shelf เพราะแสงตรงจากดวงอาทิตย์ที่ไม่ผ่านการกรอง อาจมากเกินไปสำหรับการใช้งานในบ้าน การทำชั้นสะท้อนแสงจะช่วยกระจายลำแสงและลดความแรงลงได้ - Light Well ชั้นล่างของบ้านก็สามารถรับแสงจากหน้าต่างบนหลังคาได้ ด้วยการทำเป็นบ่อนำแสงลงมา หรือจะใช้บ่อบังคับทิศทางของแสงให้ไปในจุดหรือในห้องที่ต้องการได้ - Roof Monitor ในกรณีที่เราต้องการรับแสงจากทิศตะวันออก แต่หลังคาของห้องนั้นๆหันไปทางทิศตะวันตก เราสามารถทำจอรับแสงบนหลังคาที่หันไปทางทิศตะวันออกได้ แล้วใช้บ่อหรือชั้นสะท้อนแสงมาในจุดที่ต้องการ สกายไลท์กับต้นไม้ในประเทศเมืองหนาว สกายไลท์ที่หันไปทางทิศใต้จะให้แสงและความอบอุ่นในฤดูหนาวเป็นอย่างดี แต่จะทำให้บ้านร้อนเกินไปในฤดูร้อน ก็เลยมีการปลูกต้นไม้ชนิดผลัดใบมาช่วยบัง พอถึงฤดูหนาว ต้นไม้พวกนี้ก็ไม่มีใบเหลืออยู่บนต้น ปล่อยให้แสงส่องเข้ามาทางสกายไลท์ได้

หน้าต่างบนหลังคา1.jpg

รูปแบบของสกายไลท์

สกายไลท์ในบ้านเรามีทั้งแบบสำเร็จรูปและแบบทำตามสั่ง สกายไลท์แบบสำเร็จรูป ส่วนมากจะใช้วัสดุโปร่งแสงที่ทำจาก พอลิคาร์บอเนต ตัวที่มีการเคลือบสารป้องกันรังสียูวีจะมีราคาสูง มีหลายรูปทรงให้เลือก เช่น ทรงโดม ทรงพีระมิด ทรงครึ่งวงกลม ทรงครึ่งกระบอก และมาพร้อมกับระบบพร้อมติดตั้ง เช่น ฐานรองและกรอบที่ออกแบบให้ป้องกันการรั่วซึม อุปกรณ์เสริมก็มีมากมาย เช่น พัดลมระบายความร้อน กลไกเปิดปิดระบายอากาศทั้งแบบมือและแบบไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งท่อนำแสงสำเร็จรูป ส่วนบริษัทที่รับทำตามสั่ง ก็จะใช้แผ่นกระจกนิรภัยหรือแผ่นพอลิคาร์บอเนตสองชั้นแผ่นเรียบ ยึดด้วยโครงอะลูมิเนียม ราคาก็จะย่อยเยากว่า เหมาะสำหรับบ้านที่ต้องการทำช่องแสงขนาดใหญ่ หรือเป็นหลังคาโปร่งแสงยาวต่อเนื่องกัน แต่ประสิทธิภาพการกันน้ำขึ้นอยู่กับการติดตั้งที่ถูกวิธี เช่น มีโครงรับน้ำหนักที่ไม่ห่างเกินไป และมีความลาดเอียงอย่างน้อย 4:12 (ลาดลงมา 4 หน่วย ต่อระยะทาง12 หน่วย)

ขอขอบคุณบทความดีๆจาก บ้านและสวน

ขอขอบคุณรูปภาพประกอบจาก Hozz และ Pinterest