เตรียมบ้านอย่างไรให้พร้อมรับมือกับฤดูหนาว
ฤดูหนาว (พฤศจิกายน-มกราคม)
ช่วงนี้เหมาะกับการซ่อมแซมบ้านที่สุด เพราะฝนหยุดตกแล้วและสภาพอากาศค่อนข้างเย็นสบาย แต่จะลงมือซ่อมอะไรก่อนหลังนั้น ควรเริ่มต้นด้วยการเดินสำรวจให้ทั่วบริเวณทั้งภายในและภายนอกบ้านว่ามีจุดใดที่เสียหายจากฟ้าฝนบ้าง เช่น มีน้ำรั่วซึมที่ฝ้าเพดาน สีทาผนังโปร่งพอง จะได้แก้ไขได้ตรงจุด

1. เดินสำรวจบ้าน ช่วงก่อนปีใหม่ควรเดินดูทั้งภายในและภายนอกบ้าน คำแนะนำ: เมื่อตรวจพบจุดที่เสียหายควรจดบันทึกไว้เพื่อวางแผนซ่อมแซมตามลำดับความสำคัญ 2. ดาดฟ้า ค.ส.ล. รั่วซึม หลังคาแบนมีน้ำขังนาน พื้นผิวปูนอาจมีการแตกร้าว หรือท่อน้ำทิ้งอุดตัน สังเกตได้จากฝ้าเพดานด้านใน คำแนะนำ: ถ้าพื้นมีความลาดเอียงน้อย หรือเป็นแอ่งให้เทปูนปรับระดับพื้นผิวใหม่ ใช้ซิลิโคนอุดซ่อมรอยแตกร้าวแล้วเคลือบทับด้วยวัสดุกันซึม หมายเหตุ: ควรรอดูผลการซ่อมแซมก่อนติดตั้งฝ้าเพดานด้านใน
3. หลังคากระเบื้องรั่วซึม อาจเกิดจากแผ่นกระเบื้องหรือครอบสันหลังคาแตกร้าว หรือระยะซ้อนทับกระเบื้องน้อย เมื่อลมพัดน้ำฝนก็อาจย้อนเข้าใต้หลังคาได้ คำแนะนำ: หาจุดรั่วซึมที่แน่นอน แล้วทาอะคริลิกกันซึม หรือเปลี่ยนเฉพาะแผ่นหลังคาที่ชำรุด
4. ฝ้าเพดานเป็นรอยด่างดวง เป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาจากการรั่วซึมของหลังคา
คำแนะนำ: - กรณีฝ้าเป็นแบบฉาบเรียบให้เจาะส่วนที่เป็นเชื้อราหรือบวมออกแล้วตัดแผ่นยิปซัมชิ้นใหม่มาใส่แทน - หากฝ้าเป็นแบบทีบาร์ให้รื้อฝ้าในส่วนที่ชำรุดออกแล้วเปลี่ยนแผ่นใหม่ หมายเหตุ: รอยคราบที่ปรากฏอาจไม่ใช่จุดที่น้ำรั่วจริง เพราะบางครั้งน้ำจะไหลจากจุดที่รั่วเข้ามาแล้วไปนองอยู่ ดังนั้นจึงต้องหาจุดรั่วซึมที่แน่นอนแล้วซ่อมตามสาเหตุที่พบ 5. น้ำซึมผ่านผนังรอบๆช่องเปิด - มีการยืดหดตัวของประตูหน้าต่าง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างโครงสร้าง - ร่องยาแนวบล็อกแก้วเสื่อมภาพ คำแนะนำ: ใช้ซิลิโคนหรือพอลิยูรีเทนมาอุดรอยต่อ ส่วนร่องยาแนวบล็อกแก้วที่เสื่อมสภาพให้ขูดออกมาแล้วยาแนวใหม่ หรือทำกันสาดเหนือวงกบและเซาะร่องทำบัวหยดน้ำเพื่อไม่ให้น้ำไหลย้อนเข้ามา 6. ผนังฉาบปูนแตกร้าว/หลุดล่อน ผิวปูนฉาบแตกลายงาเป็นเพราะการฉาบที่ไม่ดีพอ ส่วนผิวปูนฉาบหลุดล่อนเป็นเพราะเนื้อปูนเสื่อมภาพ
คำแนะนำ: - วิธีแก้ปัญหาผิวปูนแตกลายงาให้ใช้กระดาษทรายขัดแต่งผิวแล้วใช้อะคริลิกมาอุดโป๊ จากนั้นทาสีที่มีความยืดยุ่นสูงทับหน้าเพื่อช่วยปกปิดการแตกลายงา - วิธีแก้ปัญหาผิวปูนฉาบหลุดล่อนใช้เกรียงแซะผิวปูนที่หลุดล่อนออกมาแล้วผสมปูนฉาบสำเร็จรูปกับน้ำยากันซึม จากนั้นฉาบแต่งให้เข้ากับผนังเดิม หมายเหตุ: รอยแตกร้าวที่เกิดในบ้านซึ่งเป็นอันตรายและส่งสัญญานบอกเหตุให้รีบแก้ไขก็คือ รอยร้าวที่มีความกว้างเกิน 0.5 มิลลิเมตร ผนังบ้านมีรอยร้าวในแนวเฉียงทำมุม 45 องศากับพื้น รวมถึงเสา คาน พื้น ที่แตกร้าวจนมองเห็นหล็กภายใน ควรเรียกวิศวกรมาตรวจสอบ เพื่อความปลอดภัย 7. พื้นคอนกรีต/พื้นโรงรถทรุดและแตกร้าว โดยมากแล้วเกิดจากดินทรุดตัวโดยธรรมชาติ
คำแนะนำ: ควรทุบพื้นเดิมออกแล้วทำฐานใหม่ เช่น ถมดินหรือทรายแล้วบดอัดให้แน่น จากนั้นเทพื้นค.ส.ล.ใหม่ หรือเสริมการรับน้ำหนักด้วยการลงเสาเข็ม 1 ต้นต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร หมายเหตุ: ควรทำเมื่อพื้นมีความเสียหายมากพอสมควร จะได้รื้อทำใหม่ในคราวเดียวกัน 8. ล้างแอร์ปีละครั้ง ไม่ต้องรอถึงหน้าร้อนก็ล้างแอร์ได้
คำแนะนำ: เรียกช่างมาล้างทำความสะอาดแอร์ทั้งระบบอย่างน้อยปีละครั้ง หมายเหตุ: นอกจากช่วยประหยัดค่าไฟแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพด้วย 9. ท่อน้ำประปารั่ว
ให้สังเกตพื้นดินโดยรอบถ้ามีท่อแตกหรือรั่วซึม พื้นดินหรือสนามบริเวณนั้นจะเปียกชื้นและทรุดต่ำกว่าที่อื่น
คำแนะนำ: ปิดก๊อกน้ำทุกจุดแล้วดูมาตรวัดน้ำว่าตัวเลขมีการเคลื่อนไหวหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่ามีท่อน้ำรั่ว ให้รีบแก้ไข 10. สายไฟเปื่อย/ฉีกขาด - เปลี่ยนสายไฟทันทีเมื่อพบการชำรุด - ควรตรวจระบบสายไฟฟ้าทั้งในและนอกบ้านปีละครั้งหรือเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดทุก 15-20 ปี
คำแนะนำ: เมื่อพบว่าสายไฟมีสีดำคล้ำ ฉนวนหุ้มสายแตกกรอบมีรอยปริจนเห็นสายทองแดงก็ต้องให้ช่างไฟฟ้ารีบเปลี่ยนใหม่ทันที

ขอขอบคุณบทความดีๆจาก บ้านและสวน
ขอขอบคุณรูปภาพประกอบจาก Hozz และ Pinterest