เรียนรู้วิธีการบัดกรีแบบง่ายๆกันเถอะ
การบัดกรี เป็นวิธีการต่อหรือยึดโลหะแผ่นบาง ๆ เข้ายึดติดให้แน่น โดยที่แผ่นโลหะนั้นไม่หลอมละลายนั้นเป็นเนื้อเดียวกัน แต่จะมีตะกั่วเป็นตัวหลอมละลายเชื่อมประสาน ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่ง่ายไม่ซับซ้อนสะดวกและรวดเร็ว ใช้งานที่ไม่รับน้ำหนัก แรงดันและแรงดึงมากนัก เช่น งานเชื่อมสังกะสี ทำรางระบายน้ำ งานหม้อน้ำรถยนต์ งานต่อสายไฟฟ้า เป็นต้น

เครื่องมือละอุปกรณ์ในงานบัดกรี
• หัวแร้ง มีทั้งหัวแร้งชนิดเผาไฟ หัวแร้งไฟฟ้าธรรมดาและหัวแร้งไฟฟ้าแบบปืน
• ตะกั่วบัดกรี มีรูปร่างลักษณะต่าง ๆ ที่นิยมใช้กันเป็นแท่งสี่เหลี่ยมยาวประมาณ 12 นิ้ว บางชนิดมีน้ำยาเชื่อมประสานอยู่ในไส้แกนตะกั่วด้วย ( ตะกั่วบัดกรี 40/60 หมายความว่า ประกอบด้วยดีบุก 40% และ ตะกั่ว 60 % )
• น้ำยาประสาน เช่น น้ำยาประสานยางสน กรดเกลือ เป็นต้น

การบัดกรีเป็นวิธีการเชื่อมโลหะอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้
• ทำความสะอาดโลหะที่ต้องการบัดกรีให้สะอาด
• รอยต่อที่จะบัดกรีต้องแนบสนิทหรือเกยกัน
• ใช้หัวแร้งที่มีความร้อนสามารถละลายตะกั่วได้แล้วประมาณ 350-460 องศา แนบลงไปที่ตะเข็บหรือจุดที่ต้องการบัดกรี หัวแร้งจะละลายตะกั่วยึดติดทันที
• ถ้าบัดกรีโลหะเป็นแนวยาวให้บัดกรีเป็นจุด ๆ ห่างกันพอประมาณ เพื่อเป็นแนวก่อนแล้วจึงบัดกรีตามช่องว่างที่เว้นไว้ จะทำให้ได้ตะเข็บที่แข็งแรง สวยงาม
• ทำความสะอาดหัวแร้งทุกครั้งเมื่อใช้เสร็จแล้ว และจัดเก็บเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ให้เรียบร้อย
ข้อควรระมัดระวังในการบัดกรี
• ปลายหัวแร้งต้องสะอาดอยู่เสมอ
• อย่าเอาน้ำราดรอยบัดกรีขณะร้อนอยู่ จะทำให้รอยต่อไม่แข็งแรง
• การใช้หัวแร้งแบบปืนบัดกรีเสร็จแล้วปิดสวิตซ์ จะใช้ใหม่ค่อยเปิดสวิตซ์ อย่าเปิดสวิตซ์ทิ้งไว้
• บัดกรีชิ้นงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำความสะอาดรอยบัดกรี ล้างน้ำประสานออกให้หมด
ขอขอบคุณบทความดีๆมีสาระจาก supradit.com และวีดีโอจาก youtube