เมื่อฤดูร้อนกำลังจะมาถึง ต้องเตรียมบ้านอย่างไรบ้าง
ฤดูร้อน (กุมภาพันธ์-พฤษภาคม) ฤดูนี้เหมาะกับการทาสีบ้านเพราะมีแสงแดดและมีลมพัดเป็นระยะ สีจะแห้งไวและฟิล์มสีที่ได้ก็เรียบเนียน แต่ควรหลีกเลี่ยงงานติดตั้งหรือซ่อมบำรุงภายนอกบ้าน เช่น การปูหินกลางแจ้งเพราะความร้อนจากแสงแดดทำให้หินขยายตัว ส่งผลให้หินดันกันเองจนเกิดการหลุดล่อนหรือเสียหาย รวมถึงการเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาเพราะอากาศที่ร้อนอบอ้าวอาจทำให้เราไม่สบายได้

1. สีบ้านลอกล่อน ฟิล์มสีโปร่งพองหรือลอกล่อนเป็นเพราะมีความชื้นสะสมในพื้นผิวเป็นเวลานาน คำแนะนำ: - การป้องกันผนังชื้น ให้ทำหลังคาหรือกันสาดยื่นยาวอย่างน้อย 1.20-1.50 เมตร เพื่อป้องกันน้ำฝนโดนผนังบ้านโดยตรง - การแก้ไขให้ขูดสีเก่าทิ้งไปแล้วทาสีรองพื้นเพื่อป้องกันความชื้นอย่างน้อย 1 รอบและตามด้วยสีทับหน้า 2 รอบ หมายเหตุ: หมดฤดูฝนแล้วก็จริง แต่อย่าพึ่งรีบร้อน ควรรอวันที่มีแดดจัดๆแล้วค่อยลงมือทาสีดีกว่า 2. พื้นไม้/ระเบียงไม้/เฟอร์นิเจอร์ไม้เสียหาย ช่วงนี้สภาพอากาศค่อนข้างแจ่มใสเหมาะกับการทาสีหรือลงน้ำมันรักษาเนื้อไม้เพราะต้องใช้เวลาแห้งตัวนานหลายชั่วโมงกว่าจะทารอบถัดไปได้ คำแนะนำ: ใช้เครื่องขัดหรือกระดาษทรายขัดพื้นผิวเดิมที่เสียหายออก แล้วทาเคลือบผิวใหม่เพื่อปกป้องเนื้อไม้ หมายเหตุ: น้ำยาเคลือบไม้มีให้เลือกทั้งชนิดสีย้อมไม้ พอลิยูรีเทน ซึ่งใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอกบ้าน ส่วน Teak Oil เป็นน้ำมันที่คืนความชุ่มชื่นให้ไม้สักโดยเฉพาะ และเพื่อความสวยงามควรเคลือบผิวใหม่ทุก 3-5 ปี 3. รางน้ำฝนตัน เศษใบไม้และกิ่งไม้แห้งที่หมักหมมอาจทำให้น้ำฝนที่ไหลลงมาจากหลังคาระบายไม่ทัน คำแนะนำ: หมั่นตัดกิ่งไม้ที่ยื่นเหนือหลังคาออกไป หรือหาตะแกรงมาปิดรางน้ำฝนเพื่อป้องกันเศษใบไม้สะสมในราง หมายเหตุ: รีบทำก่อนฤดูฝนหนึ่งเดือน ก่อนที่พายุฝนลูกแรกจะมา

4. บ่อพัก/ท่อน้ำทิ้งตัน เปิดฝาบ่อพักออกมาดูว่ามีเศษดิน เศษหิน หรือใบไม้ทับถมจนบ่อตื้นเขินหรือไม่ คำแนะนำ: ถ้าพบให้ขุดลอกขึ้นมาแล้วนำเศษวัสดุดังกล่าวไปทิ้ง หมายเหตุ: ควรทำก่อนฝนจะมาเยือนหรืออย่างน้อยปีละครั้ง
5. น้ำขังรอบบ้าน ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันโรคไข้เลือดออก คำแนะนำ: เทน้ำที่ขังอยู่ในจานรองกระถางต้นไม้ทิ้ง เปลี่ยนน้ำในแจกัน หรือเทน้ำเดือดที่จานรองขาตู้กับข้าว หมายเหตุ: เก็บและทำลายเศษวัสดุที่ไม่ใช้ประโยชน์ที่อยู่บริเวณรอบๆบ้านเพื่อไม่ให้ยุงลายมาวางไข่
6. อิฐโชว์แนวเป็นคราบ คราบสกปรกจากทางน้ำฝนหรือมีเชื้อราและตะไคร่น้ำ คำแนะนำ: ถ้าพบการชำรุดให้ซ่อมแซมทันทีและหากมีเชื้อราและตะไคร่น้ำให้ขูดลอกออกมาให้หมดแล้วทาน้ำยาป้องกันตะไคร่และน้ำซึมเข้าผนัง
7. ต้นไม้ใหญ่สร้างปัญหา อย่าให้กิ่งไม้แผ่มาคลุมหลังคาหรือชนผนังบ้าน เพราะกิ่งไม้และใบไม้จะร่วงลงใส่หลังคา ทำให้กระเบื้องแตกร้าวหรือรางน้ำอุดตันได้ คำแนะนำ: หมั่นตัดกิ่งไม้ที่ยื่นเหนือหลังคาออกไป และระวังต้นไม้ใหญ่ที่มีรากชอนไช จะทำให้โครงสร้างบ้านเสียหาย หมายเหตุ: หากคิดจะปลูกไม้ใหญ่ใกล้บ้านควรศึกษาข้อมูลจากหนังสือต้นไม้เสียก่อน หรือปรึกษาผู้รู้ก็ได้
8. ฉนวนกันความร้อนเสื่อม หมดอายุ หรือไม่เคยติดตั้งมาก่อน คำแนะนำ: เปิดฝ้าเพดานดูว่าฉนวนใยแก้วกันความร้อนอยู่ในสภาพใด ถ้ายังอยู่ในสภาพดีจะไม่ยุบแบนติดฝ้า แต่ถ้าเสื่อมสภาพแล้วก็ต้องเปลี่ยนใหม่พร้อมกันทั้งหมด หมายเหตุ: ฉนวนใยแก้วควรจะมีความหนาอย่างน้อย 3 นิ้ว
9. รั้วเหล็กเป็นสนิม สนิมที่ผิวรีบขัดออก อย่าปล่อยให้ผุพังถึงเนื้อเหล็ก คำแนะนำ: ใช้กระดาษทรายขัดสนิมออก แล้วทาสีป้องกันสนิมหรือน้ำยาหยุดสนิม จากนั้นก็ทาสีทับได้ตามต้องการ
10. ถังบำบัดน้ำใต้ดินเสีย - มีกลิ่น - เต็มบ่อย - ถังแตกร้าวหรือรั่วซึม คำแนะนำ: เติมจุลินทรีย์ธรรมชาติลงในถังบำบัดทุกเดือนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการย่อยสลาย แต่ถ้าถังแตกหรือรั่วก็ควรเปลี่ยนใหม่ หมายเหตุ: ควรสูบออกทุก10 ปี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดของเสียเหมือนเป็นการ Reset
